วิธีลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5

วิธีลดปริมาณฝุ่นพิษ pm2.5

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ชาวกรุงหวั่นวิตกถึงปัญหาสุขภาพที่จะตามมาไม่น้อย เพราะอนุภาคฝุ่นที่เล็กจิ๋วจนสามารถเข้าสู่หลอดเลือดฝอยบริเวณปอดได้ หากสะสมมาก ๆ เข้า ในระยะยาวสามารถก่อให้เกิดโรคอันตรายอย่างปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งระบบทางเดินหายใจได้เลยดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริง ๆ จัง ๆ กันสักที เพราะสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM2.5 ก็มาจากมือของเรานี่แหละ และเป็นเราอีกเช่นกันที่จะช่วยกันหยุดยั้งฝุ่นละอองอันตรายชนิดนี้ได้ เริ่มจากปรับพฤติกรรมตามนี้

1. ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลง

รู้ไหมว่า สาเหตุอันดับ 1 กว่าร้อยละ 50-60 ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กมาจากการขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนน เนื่องจากเมื่อยางรถยนต์เสียดสีกับพื้นถนนซึ่งเป็นยางมะตอยจะทำให้เกิดฝุ่นขึ้น อีกทั้งรถยนต์ยังปล่อยควันจากท่อไอเสียให้ออกมาลอยสู่ชั้นบรรยากาศ เราจึงสังเกตเห็นว่ายิ่งบริเวณไหนมีการจราจรติดขัดมาก ๆ อากาศบริเวณนั้นจะยิ่งขมุกขมัวไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กแต่ถ้าเราลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงบ้าง แล้วหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแทน หรือถ้าใครไปทางเดียวกันก็นั่งคันเดียวกัน และใช้รถส่วนตัวในกรณีที่จำเป็น จะช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนได้มาก และทำให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ ลดน้อยลงด้วย

2. ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ

การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ขณะจอดรถ ส่งผลให้ไอเสียที่ปล่อยออกมาจะมีมลพิษมากกว่ารถแล่นตามปกติถึง 5 เท่า จึงควรดับเครื่องยนต์ของยานพาหนะทุกชนิดเมื่อจอด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในเขตชุมชน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน พื้นที่มลพิษสูง เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ

3. ตรวจเช็คสภาพรถยนต์อยู่เสมอ

ควันดำเกิดจากรถยนต์มีสภาพเครื่องยนต์เก่า ชำรุด มีระบบจ่ายน้ำมันไม่เหมาะสม รวมทั้งไส้กรองอากาศสกปรก เกิดการอุดตัน ฯลฯ เจ้าของรถจึงต้องหมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์อยู่เสมอ โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องดีเซล เพื่อไม่ให้ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐานออกมา ซึ่งสิ่งที่ควรทำ เช่น
– ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด
– เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา
– หมั่นทำความสะอาดหม้อกรองอากาศไม่ให้อุดตัน
– ตรวจสอบการทำงานของเครื่องยนต์เป็นประจำว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่
– ปรับแต่งหัวฉีดเพื่อให้ฉีดน้ำมันได้เป็นฝอยละอองละเอียด ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้สมบูรณ์ไม่เกิดควันดำ
– ตรวจสอบและทำความสะอาดระบบน้ำมันเชื้อเพลิง
– นำรถเข้ารับการตรวจสอบกำลังอัดในกระบอกสูบ เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องยนต์สึกหรอมากแล้วหรือไม่ เครื่องยนต์ที่สึกหรอมากจะมีกำลังอัดต่ำและการเผาไหม้จะไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้มีควันดำมาก

4. เจอรถควันดำให้รีบแจ้ง

อย่างที่บอกไปว่าควันดำเป็นปัญหาใหญ่และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่ใช้เครื่องดีเซล ซึ่งจะปล่อยควันดำที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ออกมา แม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดรถยนต์ที่ปล่อยควันดำแล้ว แต่ก็ยังมีรถควันดำเกินค่ามาตรฐานวิ่งอยู่บนท้องถนนมากมาย ดังนั้นเราก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้ โดยเมื่อเจอรถปล่อยควันดำ ทางกรมควบคุมมลพิษ แนะนำให้แจ้งหมายเลขทะเบียนรถ วัน เวลา และสถานที่พบเห็น ไปได้ที่

– รถเมล์หรือรถบรรทุกควันดำ แจ้งสายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584
– รถเมล์ ขสมก. ควันดำ แจ้งสายด่วน ขสมก. 1348
– รถยนต์ทั่วไป แจ้งสายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197

5. หยุดการเผาในที่โล่ง

ฝุ่น PM2.5 กว่า 35% เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นเผาใบไม้ เผาเศษขยะตามพงหญ้า เผาไร่นา เผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตรกรรม หรือควันเสียที่ลอยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดก๊าซพิษและฝุ่นละอองมากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่มลพิษทางอากาศสูงมาก ๆ ต้องหยุดการเผาเด็ดขาด เพราะจะยิ่งซ้ำเติมให้สภาพอากาศเลวร้ายลงไปอีก

6. งดสูบหรี่

ทุกครั้งที่มีการสูบบุหรี่ ควันพิษและสารพิษจำนวนมหาศาลจะลอยอยู่ในอากาศ และเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดละอองสารเคมีขนาดเล็ก ๆ ขณะที่ก๊าซชนิดต่าง ๆ ที่ถูกปล่อยออกมาพร้อมกัน เมื่อมีการเผาไหม้ยังจะก่อให้เกิดสารต่าง ๆ อีกกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสารพิษที่ทำให้อากาศปนเปื้อน

7. หลีกเลี่ยงการจุดธูป

จะเชื่อไหมถ้าเราบอกว่า พิษภัยจากควันธูป 1 ดอกนั้น ไม่ต่างกับบุหรี่ 1 มวน หรือถ้าจุดธูป 3 ดอกในบ้านที่มีการระบายอากาศไม่ดี มลพิษที่คุณจะได้รับนั้นพอ ๆ กับสี่แยกที่มีการจราจรพลุกพล่านเลย เพราะธูปทำมาจากขี้เลื่อยผสมสารเคมี เมื่อจุดธูปจะเกิดการเผาไหม้ของขี้เลื่อย กาว และน้ำหอมในธูป สารต่าง ๆ หลายตัวจะถูกปล่อยออกมาคล้ายกับสารที่พบในควันบุหรี่ และควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซต่าง ๆ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนที่สูดดมเข้าไปแล้ว ยังมีผลต่อสภาพอากาศโดยรอบอีกด้วย แต่ถ้าจำเป็นต้องจุดธูปจริง ๆ อาจใช้ธูปที่มีขนาดสั้นลง และรีบดับธูปให้เร็วขึ้น หรือใช้ธูปไร้ควันแทน

8. เลี่ยงการทำอาหารด้วยเตาถ่าน

การทำอาหารประเภทปิ้ง-ย่างด้วยเตาถ่าน จะก่อให้เกิดควัน นำมาซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่นกัน เพราะฉะนั้นในช่วงที่มลพิษครองเมือง ถ้าลดการใช้เตาถ่านได้ ก็งดไปก่อนนะคะ

9. ช่วยกันปลูกต้นไม้

การปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ หรือไม้ประดับ ก็ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศได้ และแน่นอนว่าสามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดต่าง ๆ ได้เช่นกันค่ะ แถมยังฟอกอากาศให้สดชื่นขึ้น รวมถึงการรดน้ำต้นไม้ทุกวันก็ช่วยลดฝุ่นละอองได้ระดับหนึ่ง ถ้าคิดไม่ออกว่าจะปลูกอะไรดี แนะนำต้นเศรษฐีเรือนใน พลูด่าง ไอวี่ หมากเหลือง หนวดปลาหมึก หรือต้นไม้ที่มีผิวใบหยาบ มีขน จะช่วยดับจับฝุ่นให้เกาะอยู่บนผิวใบ

10. เลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องลดความชื้นที่มาพร้อมระบบฟอกอากาศที่ช่วยกำจัดฝุ่นpm2.5

จริง ๆ แล้วในอากาศที่เราหายใจเข้าไปก็มีฝุ่นละอองขนาดเล็กปะปนมาด้วยอยู่แล้วนะคะ ซึ่งจะหายไปเมื่อมีลมพัดหรือฝนตกลงมา แต่ในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาว สภาพอากาศจะค่อนข้างนิ่ง ไม่มีลม จึงเกิดการสะสมมลพิษสูงขึ้นเช่นนี้ ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นภัยสุขภาพวนเวียนอยู่ในเมืองกลายเป็นหมอกอย่างที่เราเห็นกัน แต่ถ้าเราทุกคนช่วยกันลด ละ เลิกพฤติกรรมดังที่กล่าวมาตลอดทั้งปี ไม่ใช่ทำแค่เฉพาะช่วงฝุ่นพิษปกคลุมเมือง เราก็อาจไม่ต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 แบบนี้อีกในอนาคต